Carbon Hotspot คืออะไร สำคัญอย่างไร
โดย ผศ.ดร. ภานุวัฒน์ อุส่าห์เพียร - BSI, Product Manager
โดยปกติแล้วองค์กรส่วนใหญ่คงได้เคยประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Product: CFP) กันมาบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม หากผู้บริหารหรือหัวหน้าหน่วยงานไม่ได้นำเอาข้อมูลการวิเคราะห์ สังเคราะห์การประเมินดังกล่าวมาทำงานกันต่อ คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
หนึ่งในนั้นคือ การบ่งชี้จุดที่เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุดในวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า Carbon Hotspot นั่นเอง บางอุตสาหกรรม Carbon Hotspot อาจอยู่ที่การได้มาของวัตถุดิบ บางอุตสาหกรรม Carbon Hotspot อาจอยู่ที่กระบวนการผลิต ดังนั้น แต่ละประเภทอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่แตกต่างกัน จะมี Carbon Hotspot ที่แตกต่างกัน ทำให้การบริหารจัดการคาร์บอนก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย
การบ่งชี้ Carbon Hotspot ของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์สามารถดำเนินการได้หลายระดับ โดยอาจเริ่มต้นจากระดับหน่วยใหญ่ไปจนถึงระดับหน่วยย่อย เช่น ในเบื่องต้นอาจค้นหาว่า จุดที่ก่อให้เกิด Carbon Hotspot นั้น อยู่ในช่วงชีวิตใดของผลิตภัณฑ์ (เช่น การได้มาของวัตถุดิบ การขนส่ง กระบวนการผลิต การใช้งาน หรือการกำจัดซาก) หลังจากนั้นจึงทำการเจาะลึกเข้าไป เพื่อพิจารณาว่าในช่วงชีวิตนั้น Carbon Hotspot เกิดจากกิจกรรมใดบ้าง แล้วจึงกำหนดลำดับความสำคัญของมาตรการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต
การดำเนินการแบบนี้ จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการกำหนดนโยบาย หรือมาตรการที่ไม่มีนัยสำคัญ ต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ เรียกได้ว่า ทำให้เราสามารถ Get to the point ของการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง การกำหนด Carbon Hotspot อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะทำให้องค์กรสามารถกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประหยัดระยะเวลาในการดำเนินการ และทำให้การติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
บทความต่อไป เทคนิคและตัวอย่างในการกำหนด Hotspot หลังจากศึกษาค่าคาร์บอน