ความแตกต่างระหว่าง Product Carbon Footprint (PCF) และ Environmental Product Declaration (EPD)
ทุกคนอาจเคยได้ยินการประเมิน Product Carbon Footprint หรือรอยเท้าคาร์บอนกันมาบ้างแล้ว วันนี้จึงอยากกล่าวถึงฉลากอีกตัวหนึ่ง คือ Environmental Product Declaration ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มฉลากประเภทที่ 3 ในมาตรฐาน ISO 14025 ความแตกต่างประเภทของฉลากแสดงดังตาราง
ความเหมือนกันของฉลากทั้งสองคือ ทั้งคู่ใช้หลักการประเมินวัฏจักรชีวิตในการประเมินผลกระทบ แต่ฉลากคาร์บอนจะประเมินผลกระทบเดียว นั่นคือ ภาวะโลกร้อน (Global warming) หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรชีวิต หรือบางส่วนของวงจรชีวิต ขึ้นอยู่กับขอบเขตการประเมิน ในขณะที่ EPD จะประเมินผลกระทบที่หลากหลายกว่า ขึ้นอยู่ข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์ (Product Category Rules: PCRs) โดยทั่วไปมีไม่ต่ำกว่า 10 ผลกระทบ ทั้งทางด้านการใช้วัตถุดิบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดลงของชั้นโอโซน การเกิดฝนกรด ความเป็นพิษต่อมนุษย์ การใช้น้ำจืด การเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์ การเกิดหมอกพิษ การเจริญเติบโตของพืชผิดปกติ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น นอกจากนั้น การนำเสนอข้อมูลของ EPD ส่วนใหญ่จะไม่อยู่ในรูปแบบของฉลาก แต่ส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบของรายงาน
ในอนาคตมีแนวโน้มที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะถูกเรียกร้องให้มีการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากการประเมินดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน และทำให้ผู้ผลิตเองสามารถพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง หลีกเลี่ยงการเกิด Environmental burden shifting หรือ การแก้ปัญหาที่ผลกระทบหนึ่งแล้วไปก่อให้เกิดปัญหาที่ผลกระทบอื่นแทน ซึ่งจะกลายเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่รู้จบ