ในปัจจุบันอาจกล่าวว่า ถนนทุกสายต่างมุ่งหน้าสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน คงจะไม่ผิดจากความจริงนัก โดยในปัจจุบัน ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ได้หันมาทบทวนเพื่อปรับทิศทางการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน ในทุกมิติกันมากขึ้น
ในมิติที่แพร่หลายนั้น จะครอบคลุม สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) โดยหลายองค์กรมีความก้าวหน้ามากกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เราจะสามารถวัดผลความสอดคล้องในแต่ละมิติอย่างไร เพื่อให้ทราบว่าเราอยู่ในจุดใดของแนวทางนี้
การจัดอันดับเครดิต เป็นหนึ่งในวิธีการที่สำคัญในการประเมิน ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทโดยภาพรวมแล้ว ยังเป็นตัวกลางในการ “วัด” ความก้าวหน้าของบริษัทในด้าน ESG อีกด้วย โดยออกมาตรวัดที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ESG Score (บางแห่งเรียกว่า ESG Rating หรือ ESG Risk Rating) ซึ่งจะเป็นคะแนนที่องค์กรสามารถนำมาใช้เพื่อวัดระดับความก้าวหน้าองค์กรตนเอง รวมถึงใช้ในการประชาสัมพันธ์ผลงานในด้าน ESG แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร
คะแนนเหล่านี้ยังเป็นข้อมูลให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องสามารถใช้พิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของลูกหนี้ และนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้าน ESG ต่าง ๆ และสำหรับนักลงทุน ESG Score ช่วยให้เข้าใจ และจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ด้านการลงทุนได้เป็นอย่างดี
คะแนนเหล่านี้มีหลักการอย่างไร ขอยกตัวอย่าง ESG Score ขององค์กรหนึ่ง ซึ่งแบ่งการให้คะแนนเป็นสองขั้น ขั้นแรกคือ Issuer Profile Score (IPS) เป็นการวัดระดับความเสี่ยงของบริษัทตามมิติด้านสิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และธรรมาภิบาล (G) โดยแต่ละมิติมีระดับคะแนนตั้งแต่ 1-3 โดยระดับ E-1, S-1 และ G-1 มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ขณะที่ E-3, S-3 และ E-3 มีความเสี่ยงมากที่สุด
ทั้งนี้ สิ่งที่องค์กรนั้นเลือกดูในแต่ละมิติมีดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม (E) ครอบคลุมเรื่องการจัดการด้านคาร์บอน ความเสี่ยงกายภาพด้านสภาวะอากาศ การจัดการน้ำ ของเสีย และมลพิษ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ด้านสังคม (S) ครอบคลุมเรื่อง คุณค่าความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์กับลูกค้า การจัดการทรัพยากรบุคคล แนวโน้มด้านประชากร และสังคม สุขภาพและความปลอดภัย การผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ
และด้านธรรมาภิบาล (G) ครอบคลุมกลยุทธ์ทางการเงิน และบริหารความเสี่ยง ความน่าเชื่อถือ และประสบการณ์ของผู้บริหาร โครงสร้างองค์กร การกำกับดูแลและการรายงาน โครงสร้างคณะกรรมการ นโยบายและระเบียบปฏิบัติ ความโปร่งใสและตรวจสอบกลับได้ในแต่ละขั้นการทำงาน เป็นต้น