การแปรผลวิเคราะห์ LCA และการนำไปใช้งาน
โดย ผศ.ดร. ภานุวัฒน์ อุส่าห์เพียร - BSI, Product Manager
ขั้นตอนการแปรผล (Interpretation stage) ของการวิเคราะห์ LCA เป็นขั้นตอนสุดท้ายและถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เราจะใช้ประโยชน์จากการประเมิน LCA ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการตีความ ผู้ประเมินควรเตรียมตัวให้พร้อมและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกลไกด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผลกระทบที่เลือก รวมถึงรายละเอียดและข้อจำกัดของแบบจำลองที่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์การประเมิน
การตั้งเป้าหมายในการประเมิน LCA ประกอบด้วย 2 รูปแบบ หลักคือ (1) เป้าหมายเพื่อบ่งชี้จุด hotspot ของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต และ (2) เป้าหมายเพื่อเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมระหว่างผลิตภัณฑ์ ดังนั้น แนวทางในการแปรผลก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย ดังนี้
1. กรณีตั้งเป้าหมายบ่งชี้จุด hotspot ของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต
ผู้ประเมินควรจะต้องตั้งคำถามและตอบ ด้วยประเด็นดังต่อไปนี้
- จุดไหนคือจุด hotspot ของการเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม? หรือขั้นตอนใดของกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในแต่ละกลุ่มผลกระทบ
- ผลลัพธ์ที่ได้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง จากตัวแปรใด ได้บ้าง? เช่น การเปลี่ยนแปลงขอบเขตการประเมิน การเปลี่ยนวิธีการปันส่วน หรือที่มาของค่า Characterization factor เป็นต้น
- ตามที่ได้กำหนดไว้ในเป้าหมายและขอบเขตการประเมิน กลุ่มผลกระทบทุกกลุ่มได้รับการพิจารณาครบถ้วนแล้วหรือไม่?
- ตัวแปรใดที่ส่งผลกระทบต่อผลการวิเคราะห์มากที่สุด? ในกรณีนี้อาจใช้เทคนิคการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity analysis) ช่วยในการประเมิน
- จุดใดที่มีโอกาสในการพัฒนาปรับปรุงสมรรถนะทางสิ่งแวดล้อมมากที่สุด?
ตัวอย่างการพิจารณา Sensitivity Analysis
ที่มา: Usapein, P., & Chavalparit, O. (2017). Life cycle assessment of bio-sludge for disposal with different alternative waste management scenarios: a case study of an olefin factory in Thailand. Journal of Material Cycles and Waste Management, 19, 545-559.
จากรูปด้านบน เป็นตัวอย่างการประเมิน LCA ทางเลือกสำหรับการกำจัดตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย โรงงานปิโตรเคมี จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการท่อรวบรวมก๊าซมีเทนในหลุมฝังกลบ (จากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 90) ไม่มีผลกระทบต่อการเกิดมลพิษฝนกรด แตกต่างจากการเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยกำจัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ เมื่อเพิ่มประสิทธิภาพจากร้อยละ 50 เป็น ร้อยละ 90 ผลกระทบด้านฝนกรดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในการพิจารณาผลลัพธ์ที่ได้ในแต่ละครั้งเราควรพิจารณาถึงตัวแปรที่มีนัยสำคัญ เพื่อที่จะสามารถนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบ หรือผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายในการประเมินที่ตั้งไว้
2. กรณีตั้งเป้าหมายเพื่อเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมระหว่างผลิตภัณฑ์
จากกราฟด้านบนเป็นตัวอย่างผลกระทบสิ่งแวดล้อมเปรียบเทียบระหว่างแนวทางที่ 1 และ 2 เมื่อได้ผลมาแบบนี้สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม มีอะไรบ้าง เรามาลองพิจารณาดูกัน
- แนวทางที่ 2 ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าแนวทางที่ 1 อย่างแท้จริงหรือไม่? หรือเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของข้อมูลที่นำมาประเมิน ในกรณีนี้การประเมินความไม่แน่นอน (Uncertainty analysis) ควรต้องมีการดำเนินการเพื่อยืนยันประเด็นดังกล่าว
- ผลที่ได้สอดคล้องกับค่าทางทฤษฎีหรือไม่ ? หรือสะท้อนถึงค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือไม่?
- ผลที่ได้สะท้อนถึงกรอบเวลาที่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายและขอบเขตที่ตั้งไว้หรือไม่?
คำถามเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาเพื่ออธิบายประเด็นต่างๆ ก่อนที่ผลการประเมินจะถูกสรุปและนำไปเผยแพร่ ซึ่งจะเป็นการทวนสอบความถูกต้องของผลการประเมินได้ทางหนึ่ง หากปราศจากการตอบคำถามเหล่านี้แล้ว บทสรุปของการประเมิน LCA จะเป็นแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา ซึ่งขาดข้อมูลมาสนับสนุนข้อสรุปดังกล่าว
เมื่อผู้ประเมินสามารถตอบคำถามด้านบนได้อย่างชัดเจนแล้ว การเขียนบทสรุปของการประเมินควรเริ่มต้นจากการระบุสิ่งที่มีนัยสำคัญที่ได้รับจากผลประเมิน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง ช่วงชีวิตของวัฏจักรชีวิต กระบวนการผลิต การไหลของมลภาวะ หรือผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่มีนัยสำคัญเหล่านี้ จะนำไปสู่โอกาสในการปรับปรุงผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน