Life Cycle Thinking แนวคิดสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดย ผศ.ดร. ภานุวัฒน์ อุส่าห์เพียร - BSI, Product Manager
ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักที่นำทุกคนไปยังสู่เป้าหมายเดียวกัน แต่การจะไปถึงเป้าหมายได้นั้น จะต้องทำอย่างไร ถือเป็นคำถามที่สำคัญยิ่ง ในหลายๆ เป้าหมายหากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่าง เช่น เป้าหมายที่ 7 (SDG 7) ที่กล่าวถึง “การเข้าถึงแหล่งพลังงานที่ทันสมัย ราคาไม่แพง และยั่งยืน สำหรับทุกคน” การดำเนินการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนี้ อาจหมายถึง การขยายโครงสร้างพื้นฐานการจัดหาแหล่งพลังงาน ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ ซึ่งจะไปกระทบกับเป้าหมายที่ 13 (SDG 13) ในเรื่องของ “การดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ได้
ดังนั้น การประเมินตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นกุญแจสำคัญ ในการติดตามการกระทำต่างๆและเป็นเครื่องมือสนับสนุนในการตัดสินใจ เพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจำเป็นต้องมีวิธีคิดใหม่และต้องก้าวไปไกลกว่าการมุ่งแก้ปัญหาที่ Focus เพียงผลกระทบใดผลกระทบหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า การคิดแบบวงจรชีวิต (Life Cycle Thinking) การปลูกฝังแนวคิดวงจรชีวิตทำให้เราสามารถตรวจสอบผลกระทบที่ซ่อนอยู่ ตลอดจนระบุฮอตสปอตที่สำคัญของผลิตภัณฑ์หรือระบบได้
การปรับปรุงใดๆ ที่เราคิดว่าดี อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป หากปราศจากการประยุกต์ใช้การคิดแบบวงจรชีวิต (Life Cycle Thinking) เข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารมีบทบาทสำคัญในการปกป้องผลิตภัณฑ์และลดการเน่าเสียของอาหาร การลดการใช้บรรจุภัณฑ์อาจช่วยประหยัดวัสดุ แต่อาจทำให้สูญเสียอาหารมากขึ้นได้ บางครั้งบรรจุภัณฑ์มากอาจดีกว่าก็ได้ เมื่อเราตัดสินใจ มักจะมีความเสี่ยงที่ปัญหาจะเปลี่ยนไป วิธีแก้ปัญหาหนึ่งสำหรับปัญหาหนึ่งๆ อาจสร้างอีกปัญหาหนึ่งในที่อื่นได้!
ลองนึกภาพว่าเรากำลังออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานอย่างมาก การใช้พลังงานในช่วงการใช้งานจะต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำกว่า แต่แล้วเราก็ตระหนักได้ว่าการผลิตผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานของเราจะต้องใช้วัสดุมากขึ้นในการผลิต!
คำถาม คือ มันคุ้มค่าหรือไม่ที่จะดำเนินต่อ?
ดังนั้น ผลกระทบจากปริมาณพลังงานที่ใช้งานจะต้องถูกประเมิน หากน้อยกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้วัสดุ จึงสมควรเดินหน้าต่อ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดวงจรชีวิตทั้งหมด ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ