ขั้นตอนการประเมิน Carbon footprint product
โดย ผศ.ดร. ภานุวัฒน์ อุส่าห์เพียร - BSI, Product Manager
1. กำหนดเป้าหมายและขอบเขตการประเมิน
ในขั้นตอนนี้เป้าหมายในการประเมินจะต้องชัดเจน ดำเนินการประเมินเพื่ออะไร โดยปกติแล้วสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมจะตั้งเป้าหมายการประเมินเพื่อหาจุดที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด หรือการหา Carbon hotspot ของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์นั่นเอง เมื่อตั้งเป้าหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อในขั้นตอนนี้ คือ การกำหนดหน่วยเทียบ (Functional Unit) ในการประเมิน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญและต้องมีความสอดล้องกับวัตถุประสงค์ในการประเมิน ตัวอย่างการตั้ง Functional Unit ของอาหารทะเล แสดงดังตาราง
ตัวอย่างการกำหนดหน่วยเทียบของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารทะเล
เมื่อพิจารณเลือกหน่วยเทียบที่เหมาะสมได้แล้ว ลำดับถัดไป คือการกำหนดของเขตการประเมิน สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลอ้างอิงตาม PAS 2050-2 แนะนำให้ประเมินขอบเขต Cradle-to-gate อย่างไรก็ตามหากองค์กรสามารถหาข้อมูลได้เพิ่มเติมสามารถขยายขอบเขตเป็น Cradle-to-grave ได้ ตัวอย่างขอบเขตการประเมินแสดงดังรูปด้านล่าง
ที่มา: (PAS 2050-2:2011) - รูปที่ 1 ขอบเขตการประเมิน
กิจกรรมที่ต้องมีการประเมินคาร์บอน ในขอบเขตการประเมิน Cradle-to-gate ของผลิตภัณฑ์อาหารทะเล แสดงดังรูปด้านล่างจะเห็นได้ว่าในการประเมินจะเริ่มตั้งแต่กิจกรรม การทำประมง ขึ้นฝั่ง ประมูล กระบวนการผลิต ศูนย์กระจายสินค้า ร้านค้าปลีก การใช้งานผู้บริโภค และสุดท้ายการกำจัดซากของผลิตภัณฑ์ ซึ่งในแต่ะขั้นตอนจะประกอบไปด้วยขั้นตอนย่อยๆ ผู้ประเมินต้องทำการแยกแยะอย่างละเอียด นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การปันส่วน ในแต่ละขั้นตอนย่อยอาจจะต้องมีการดำเนินการในกรณีที่ขั้นตอนนั้นมีผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นมากกว่า 1 ผลิตภัณฑ์
ที่มา: ดัดแปลงจาก (PAS 2050-2:2011)
2. การวิเคราะห์บัญชีรายการ
การจัดทำบัญชีรายการ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลวัตถุดิบ, พลังงาน, สารเคมี ขาเข้า และมลพิษ ขาออก ที่ปล่อยออกมาในแต่ละขั้นตอน โดยปริมาณที่รวบรวมจะต้องอ้างอิงกับหน่วยเทียบ (Functional Unit) แหล่งข้อมูลอาจได้มาจากทั้งแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (เช่น จากการตรวจวัดโดยตรง) ทุติยภูมิ (อ้างอิงจากฐานข้อมูลหรืองานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ) ระยะเวลาที่จัดเก็บข้อมูลควรมีระยะเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยข้อมูลที่เก็บต้องมีระยะเวลา 1 ปี หากแหล่งที่มาของวัตถุดิบมาจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกันจำนวนมาก อาจต้องใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม ในกรณีนี้ต้องมีการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ การสุ่มตัวอย่างโดยไม่มีการจัดกลุ่ม และการสุ่มตัวอย่างแบบมีการจัดกลุ่ม การแบ่งกลุ่มอาจแบ่งได้ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เช่น ระยะทางจากแหล่งประมง สภาพภูมิอากาศ (ในกรณีที่มีผลต่อวัตถุดิบ)
- ประเภทของเทคโนโลยี/สถานะการดำเนินงาน เช่น ประเภทของวิธีการทำประมง
- ขนาดของการดำเนินการ เชน ขนาดเล็ก/กลาง/ใหญ่ ของการทำประมง
ตัวอย่างจำนวนตัวอย่างของทั้งสองกรณี แสดงดังตาราง
การปันส่วน สำหรับการปันส่วนในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ควรจะต้องมีการดำเนินการในส่วนไหนบ้าง สามารถแสดงได้ดังนี้
- การปันส่วนให้กับผลิตภัณฑ์ร่วมในระหว่างการทำประมง และการแปรรูป (ควรปันส่วนโดยน้ำหนัก)
- การปันส่วนให้กับผลิตภัณฑ์ร่วมระหว่างการขนส่ง (ควรปันส่วนโดยน้ำหนัก)
- การปันส่วนให้กับผลิตภัณฑ์ร่วมระหว่างการจัดเก็บ (ควรปันส่วนโดยปริมาตร)
3. การคำนวณก๊าซเรือนกระจกผลิตภัณฑ์อาหารทะเล
เมื่อได้ดำเนินการจัดทำบัญชีรายการเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละกิจกรรมโดยใช้สมการ
GHG emissioni = Activitiesi x EFi
GHG emissioni = การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรม i
Activitiesi = กิจกรรม i ที่คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
EFi = ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรม i
ตัวอย่างการคำนวณก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปลาหมึก 1 kg
จากตารางด้านบนเป็นตัวอย่างการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตปลาหมึก 1 kg ซึ่งพบว่ามีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.45992 kgCOe / kg ปลาหมึก การประเมินข้างต้นเป็นตัวอย่างเบื้องต้น ในการประเมินจริงจะมีรายการที่มีละเอียดมากกว่านี้ ดังนั้นผู้ประเมินจะต้องมีการวางแผนในการเก็บข้อมูลอย่างรัดกุม รวมถึงกำหนดขอบเขตการประเมินอย่างชัดเจน เพื่อที่จะสามารถดำเนินการประเมินได้ตามกำหนดเวล่าที่ได้วางไว้